โหลใส่สารพัดของแห้งหลายใบวางเรียงรายกันอย่างเป็นระเบียบบนชั้นที่ถูกแบ่งเป็นช่อง เมื่อต้องการใช้ก็ต้องเลื่อนบันไดปีนขึ้นไปหยิบ ชวนให้นึกถึงร้านขายยาจีนเก่าๆ หรือให้จินตนาการไปไกลกว่านั้น ทำให้ผมนึกไปถึงห้องทดลองยาของพ่อมดแม่มดในหนังแฟนตาซีสักเรื่องหนึ่ง เมื่อเอาส่วนผสมในแต่ละโหลมาชั่ง ตวง วัด และเมื่อรินน้ำร้อนใส่ กลิ่นหอมที่ถูกตระเตรียมไว้ก็หอมฟุ้ง
ปลา-นันธิดา รัตนกุล เจ้าของร้านจุดเทียนหอมสร้างบรรยากาศ ก่อนจะยกขวดตัวอย่างชาทั้ง 19 กลิ่นมาให้ผมเลือก ผมเริ่มเปิดไล่ชาทีละขวดขณะนั่งคุยกับปลา
ร้าน ‘TE Time and Space’ เป็นร้านชาที่ต่างจากร้านชาอื่นๆ ชาที่นี่เป็นชาเบลนด์ หรือชาที่ผสมผสานกับของหอมอื่นๆ มีทั้งดอกไม้ ผลไม้ ข้าว และอื่นๆ อีกมากมาย
ปลาเล่าว่า ก่อนหน้าที่จะเปิดเป็นร้าน ปลาและ นัท-ณัฐกิจ อุดมศรีรัตน์ เริ่มทำชาขายที่ Farmer’s Market เป็นใบชาแบบต่างๆ อย่างอู่หลง ชาดำ ชาเขียว ที่บ้านของนัทนำเข้ามาจากจีน จากประสบการณ์ของทั้งคู่ที่มักเดินทางไปชิมชาจากหลายๆ ที่ ปลาเห็นความเป็นไปได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างนอกจากใบชาที่สามารถนำมาทำชาได้ทั้งนั้น อย่างเช่นไหมข้าวโพด เปลือกผลกาแฟ หรือแม้แต่ทุเรียน ทำให้ปลาเริ่มสนใจที่จะลองเอาชามาเบลนด์กับของอย่างอื่นดูบ้าง
“เบลนด์แรกสุดของ TE คือชาเขียวและข้าวเหนียวดำ ปลาได้ไอเดียจากเกนมัยฉะหรือชาข้าวญี่ปุ่น ที่มีส่วนผสมของชาและข้าวคั่วจนได้กลิ่นหอมไหม้อ่อนๆ
“แต่การเบลนด์ชาก็ไม่ใช่ว่าจับอันนั้นผสมอันนี้ก็เสร็จ เรื่องสัดส่วนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะกว่าข้าวที่แช่ในน้ำร้อนจะให้กลิ่นและสี ชาเขียวก็ถูกแช่จนขมไปหมด ปริมาณชาและข้าวจึงเป็นเรื่องที่ต้องผ่านการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า จนได้จุดที่สมดุลที่สุด”
เมื่อชาเบลนด์ตัวแรกได้รับเสียงตอบรับที่ดี ทั้งคู่เห็นว่ามีคนที่ให้ความสนใจชาเบลนด์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เลยลองผสมชาสูตรอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ
“ตอนแรกสุดโจทย์ในการเบลนด์ชาของ TE คือเพื่อกลิ่น รส ที่มีความหอม แต่เมื่อมีหลายสูตรและแต่ละสูตรก็มีส่วนผสมหลายอย่างแตกต่างกัน ลูกค้ามักจะมีคำถามถึงสรรพคุณเสมอ ทำให้เริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องสรรพคุณของทุกส่วนผสมมากขึ้น ส่วนผสมบางอย่างก็ได้รับคำแนะนำต่อมาจากลูกค้า
“มันมีทั้งของที่เป็นฤทธิ์ร้อนและฤทธิ์เย็น ชาของ TE จะพยายามเบลนด์ให้ฤทธิ์ทั้งสองสมดุลกันมากที่สุด เพราะไม่รู้จะมีผลอะไรกับคนที่จะเอาชาไปดื่มบ้าง ค่อยๆ ให้ความสมดุลของชาปรับสมดุลของร่างกาย เหมือนเวลาเราร้อน การดื่มน้ำในอุณหภูมิพอเหมาะอย่างอุณหภูมิห้องก็ปรับร่างกายได้ดีกว่าน้ำที่เย็นจัด” ปลาเล่า
ผมเลือกชา 4 ขวดจาก 19 ขวด ทดลองดมระหว่างนั่งคุยกับปลา ในหัวไม่ได้คิดอะไร แค่ดมผ่านๆ อันไหนชอบก็แยกออกมา ปลาบอกผมว่า ผมเป็นคนที่ชอบดื่มอะไรรสซับซ้อน เพราะดูจากกลิ่นที่เลือกจะมีสวนผสมที่มากกว่าและแปลกกว่าปกติ ไม่แน่ใจว่าผมเลือกกลิ่นอะไรมาบ้าง ผมจำได้คร่าวๆ แค่ว่าใน 4 ขวดมีเปลือกกาแฟ ขมิ้นชัน เป็นส่วนผสม ผมเลยสงสัยว่าจริงๆ แล้วเราสามารถเดานิสัยคนจากชาที่เขาเลือกได้ไหม
ปลาเริ่มชงชาที่ผมเลือกให้ชิมทีละเบลนด์ด้วยรูปแบบการชงแบบกังฟูบาร์ คนที่มีความรู้เรื่องชาน้อยมากแบบผมสะดุดหูกับคำว่ากังฟูบาร์ขึ้นมาทันที ปลาอธิบายเหมือนได้ยินคำถามในใจ หลายคนอาจจะนึกถึงศิลปะการต่อสู้ แต่จริงๆ กังฟูหมายถึงการทำอย่างตั้งใจ ปลาลวกแก้วด้วยน้ำร้อน ตวงชาใส่กา เทชาน้ำแรกทิ้ง และอีกหลายกระบวนการอย่างคล่องแคล่ว
ชาจากกาใสเห็นสีสันของน้ำและส่วนผสมข้างในคือสัมผัสแรกที่ได้รับ เมื่อถูกรินลงใส่แก้ว กลิ่นหอมทำให้เราเดาต่อว่ารสที่ดื่มเข้าไปจะเป็นอย่างไร นั่นคือสัมผัสที่สอง หลังจากดื่มเข้าไปชาอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับสิ่งที่เราเดาไว้เลยก็ได้
ส่วนที่ยากของการเบลนด์ชาคือ ไม่มีทางตัดสินได้ว่ารสชานั้นจะออกมาเป็นอย่างไรในการผสมของแห้ง เพราะสุดท้ายชาต้องถูกแช่ในน้ำร้อน กลิ่นและรสก็จะเปลี่ยนแปลงไปอีกจากที่เราชอบ กว่าจะได้ชา 1 เบลนด์ต้องผ่านการลองผิดลองถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้กี่ครั้ง
นอกจาก TE จะเป็นบาร์ชงชา ยังสอนเบลนด์ชาอีกด้วย ขั้นตอนแรกสุดของการเบลนด์ชา คือต้องออกแบบรส และกลิ่นไว้คร่าวๆ ก่อนว่าต้องการรสแบบไหน ประมาณไหน อยากได้รสหลักเป็นอะไร แล้วค่อยๆ ใส่ลูกเล่นเข้าไปเพิ่ม หลักการง่ายๆ คือการค่อยๆ ปรับแก้จนได้รสที่ใกล้เคียงสิ่งที่คิดไว้
“คนที่มาเรียนเบลนด์ชาจะสนุกกับการผสมนั่นนี่เต็มไปหมด แต่เราก็ไม่ได้ห้าม แค่จะแนะนำว่าใส่มากไปมันก็อาจจะไม่หลงเหลือกลิ่นของส่วนผสมอะไรเลย เราใช้ของจากธรรมชาติ ก็น่าจะให้กลิ่นของธรรมชาติมันค่อยๆ เผยตัวออกมาทีละนิดดีกว่า ค่อยๆ ใส่ค่อยๆ เติม เอาเข้าง่ายกว่าเอาออก”
ผมลองให้โจทย์ปลาเบลนด์ชาให้ The Cloud ผมบอกว่า อยากให้นึกถึงเมฆที่ค่อยๆ เปลี่ยนสถานะจากเมฆฝนจนกลายเป็นฟ้าใส ปลานึกตามไม่นาน แล้วค่อยๆ จับส่วนผสมทีละอย่างมาชั่งตวง ประสบการณ์ทำให้เธอเหมือนมีลิ้นชักความทรงจำของรสที่ได้อยู่ในหัวอยู่แล้ว เป็นทางลัดซึ่งได้เปรียบมือใหม่อย่างผมที่ต้องเสียเวลาลองผสมดูว่าอันไหนใช้ได้หรือไม่ได้
ส่วนผสมที่มีทั้งหมดถูกเอามาวางรวมกันเต็มบาร์ ปรุงกันอยู่สักพักใหญ่ ปรับแก้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ได้ชาปรุงพิเศษของ The Cloud แบบที่น่าพอใจ
“เคยมีคนคำนวณให้ว่าของที่มีอยู่ทั้งหมด ถ้าหากจับมาเบลนด์กัน จะได้สูตรมากถึง 30,000 กว่าสูตร” ปลาเล่าเมื่อผมถามปลาว่าวัตถุดิบเยอะแยะมากมายขนาดนี้น่าจะมีสูตรที่มากกว่า 19 สูตร
“สูตรที่มีทั้งหมด 19 สูตรมีความแตกต่างกันชัดเจน ก่อนหน้านี้มีมากกว่านี้ แต่ก็ถูกดึงออกไปบ้าง เพราะใกล้เคียงกันกับอีกตัว บางตัวก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะยากเกินจะเข้าถึง แต่หลายตัวก็มีคนชอบมาก ทั้ง 19 สูตรทำให้ชาที่ร้านมีความแตกต่างที่หลากหลาย แต่ก็กำลังจะหาสูตรต่อๆ ไปอยู่
“ถ้าทั้ง 19 สูตรยังมีคนไม่ชอบใจ ก็สามารถนั่งเบลนด์กันใหม่ได้เลย เสร็จแล้วก็ใส่ขวดกลับบ้านได้ด้วย” ปลาตอบทิ้งท้าย
TE Time and Space
ทองหล่อ 25
เวลาเปิด-ปิด | พุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00 -19.00 น
Facebook | TE
www.thetepot.com/