ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2476

15
พฤศจิกายน
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอความคิดทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งของนายปรีดี พนมยงค์ ก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม โดยการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยามใน พ.ศ. 2476 มีขึ้นระหว่างวันที่ 15-28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 และเป็นไปตามหลักการข้อที่ 4 ของคณะราษฎร ในเรื่องจะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน อันเป็นการมอบสิทธิเสมอภาคทางการเมืองให้แก่พลเมือง
  • การเลือกตั้งอาศัยรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายที่ผ่านการพิจารณา 4 ฉบับ อาทิ ฉบับที่นายปรีดี พนมยงค์ เคยยกร่างเสนอและผ่านการเห็นชอบของสภาผุ้แทนราษฎร และได้รับการแก้ไขหลังจากการปิดสภาผู้แทนราษฎร โดยพระราชกฤษฎีกาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 แต่ก็ถูกแก้ใหม่หลังกบฏวรเดชแพ้ ราวกับเกมการเมือง
  • การเลือกตั้งครั้งแรกนั้น เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม คือ ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนตำบล และผู้แทนตำบลเลือกกันเองให้ได้ผู้แทนจังหวัด และเข้าไปทำหน้าที่ร่วมกับผู้แทนราษฎรที่มาจากการแต่งตั้ง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปในสภาผู้แทนราษฎร จากสมัยที่หนึ่งที่มีอยู่ก่อนหน้า

 


ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม พ.ศ. 2476

 

ความคิดทางการเมืองเรื่องการมีผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้งของนายปรีดี พนมยงค์ก่อนการอภิวัฒน์

ความคิดทางการเมืองของนายปรีดี ที่ต้องการเห็นประเทศสยามมีการเลือกตั้ง “ผู้แทนราษฎร” นั้น เริ่มต้นขึ้นที่พระนครศรีอยุธยา บ้านเกิดของเขา

นายปรีดีให้สัมภาษณ์นายฉัตรทิพย์ นาถสุภา ไว้ว่า

“เมื่อเริ่มจำความได้ก็เห็นเคหสถานของครอบครัวที่ตกทอดมาจากปู่ย่า ซึ่งแสดงว่าเป็นครอบครัวที่สมัยนั้นเรียกกันว่า “ผู้มีอันจะกิน” ...บิดาผมเลือกอาชีพทำนา จึงประสบชะตากรรมอย่างเดียวกับชาวนาซึ่งกระทบต่อความเป็นอยู่ของครอบครัว ผมประสบพบเห็นความอัตคัดของบิดามารดา และเมื่อไปอยู่กับบิดาก็พบเห็นความอัตคัดขัดสนของชาวนาทั่วไป”[1]

นายเสียง พนมยงค์ ผู้เป็นบิดา คือ ครูคนแรกที่ให้สติทางการเมืองแก่นายปรีดี ดังที่เขาเล่าต่อไปว่า “ขณะที่เรียนอยู่ในชั้นประถมนั้น เคยได้ยินบิดาสนทนากับชาวนาที่ปรับทุกข์ถึงความเดือดร้อนในการทำมาหากิน บิดาได้บอกแก่ชาวนานั้นๆ ถึงการที่ท่านได้ยินท่านเจ้าคุณ (พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา) เล่าให้ฟังว่า ที่อังกฤษมีสภาผู้แทนราษฎร คือสภาที่ราษฎรเลือกผู้แทนไปประชุม ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนอย่างใดก็แจ้งแก่ผู้แทนของตนไปขอร้องรัฐบาลได้[2]

ปรีดีสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมในช่วงอายุ 15 ปีแต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเรียนต่อได้ จึงออกไปอยู่นากับบิดา จนอายุราว 17 ปีจึงเข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เหตุนี้เองปรีดีจึงได้บทเรียนที่ทราบถึงความอัตคัดขัดสนและความยากลำบากของชาวนา

เมื่อเห็นถึงความยากลำบากของชีวิตชาวนาที่ตนประสบ “ปรีดีจึงระลึกถึงคำสอนของครูและเหตุการณ์ต่างๆ...ว่า ถ้าเมืองไทยมี parliament คือสภาที่ราษฎรเลือกผู้แทนไปประชุม เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้บำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรได้แล้ว ก็จะแก้ไขความเดือดร้อนของราษฎรได้[3]

ภายหลังจากที่นายปรีดีกลับมารับราชการในกรมร่างกฎหมาย จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2471 แล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ ยังได้สอนหนังสือในโรงเรียนกฎหมายด้วยโดยมีวิชาที่สำคัญ คือ กฎหมายปกครอง ที่เริ่มสอนในปี พ.ศ. 2474

ต่อมาในปี 2513 นายปรีดีกล่าวถึงตำรา คำอธิบายกฎหมายปกครอง ของตนว่า

“มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คือ ใน พ.ศ. 2474 เป็นปีที่ใกล้กับวาระที่จะทำการอภิวัฒน์ดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นผู้สอนกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นวิชาใหม่เพิ่งใส่ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสนั้นทำการสอนเพื่อปลุกจิตสำนึกนักศึกษาในสมัยนั้นให้สนใจในแนวทางประชาธิปไตยและในทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของสังคม ส่วนกฎหมายเป็นแต่โครงร่างเบื้องบนของสังคมเท่านั้น”

ในเอกสารของโรงเรียนกฎหมาย ซึ่งตกทอดมาถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ปรากฏข้อสอบไล่ในภาค 1 ปี 2474 จำนวน 7 ข้อ ที่ออกโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมซึ่งสะท้อนถึงคำถามต่อกฎเกณฑ์แห่งการปกครอง และการมีส่วนร่วมของราษฎรในการปกครองประเทศได้เป็นอย่างดี เช่น

“2. มีผู้กล่าวว่า ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้แทนราษฎร คำกล่าวนี้ท่านเห็นเป็นอย่างไร ?”

จากปากคำประวัติศาสตร์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความคิดทางการเมืองเรื่องการมีผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้งของนายปรีดี พนมยงค์ก่อนการอภิวัฒน์

 

ความคิดทางการเมืองเรื่องการมีผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้งของนายปรีดี พนมยงค์ ภายหลังการอภิวัฒน์ 2475

 


บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงทศวรรษแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475

 

ภายหลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้เปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อจัดระเบียบการปกครองและกำเนิดประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาครั้งแรกของสยาม พร้อมกับสร้างกลไกการปกครองแบบประชาธิปไตยทั้งแบบรวดเร็วและค่อยเป็นค่อยไปโดยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ การจัดการเลือกตั้ง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการให้จัดตั้งพรรคการเมืองได้ในเวลาต่อมา

นประกาศคณะราษฎร ลงวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 มีหลัก 6 ประการ ที่คณะราษฎรวางหลักการไว้ทั้งในทางอุดมคติประชาธิปไตยและเป็นแนวทางกำหนดนโยบายของรัฐโดยหลักข้อที่ 4 จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน…ซึ่งการจัดให้มีการเลือกตั้งถือเป็นปฐมบทสำคัญที่คณะราษฎรเริ่มต้นมอบสิทธิเสมอภาคทางการเมืองให้แก่พลเมือง

 


พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475

 

ต่อมาได้มีการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม ในส่วนที่ 2 ของมาตรา 10-17 รวมทั้งสิ้น 8 มาตรา โดย “มาตรา ๑๐  สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นไปตามกาลสมัยดั่งนี้

สมัยที่ ๑

นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ ๒ จะเข้ารับตำแหน่งให้คณะราษฎรซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทนจัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน ๗๐ นายเป็นสมาชิกในสภา

สมัยที่ ๒

ภายในเวลา ๖ เดือนหรือจนกว่าการจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย สมาชิกในสภาจะต้องมีบุคคล ๒ ประเภททำกิจการร่วมกัน คือ

ประเภทที่ ๑  ผู้แทนซึ่งราษฎรจะได้เลือกขึ้นจังหวัดละ ๑ นาย ถ้าจังหวัดใดมีสมาชิกเกินกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ให้จังหวัดนั้นเลือกผู้แทนเพิ่มขึ้นอีก ๑ นายทุกๆ ๑๐๐,๐๐๐ นั้น เศษของ ๑๐๐,๐๐๐ ถ้าเกินกว่าครึ่งให้นับเพิ่มขึ้นอีก ๑

ประเภทที่ ๒  ผู้เป็นสมาชิกอยู่แล้วในสมัยที่ ๑ มีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ ๑ ถ้าจำนวนเกินให้เลือกกันเองว่าผู้ใดจะคงเป็นสมาชิกต่อไป  ถ้าจำนวนขาดให้ผู้ที่มีตัวอยู่เลือกบุคคลใดๆ เข้าแทนจนครบ

สมัยที่ ๓

เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตต์ได้สอบไล่วิชชาปถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่ง และอย่างช้าต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น สมาชิกประเภทที่ ๒ เป็นอันไม่มีอีกต่อไป

และในมาตรา 11-17 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งและระเบียบการเลือกตั้งไว้ในเบื้องต้นว่า

มาตรา ๑๑  คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้แทนประเภทที่ ๑ คือ
 ๑. สอบไล่วิชชาการเมืองได้ตามหลักสูตรซึ่งสภาจะได้ตั้งขึ้นไว้
 ๒. มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์
 ๓. ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ
 ๔. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิในการรับเลือก
 ๕. ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย
 ๖. ฉะเพาะผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้แทนประเภทที่ ๑ ในสมัยที่ ๒ จะต้องได้รับความเห็นชอบของสมาชิกในสมัยที่ ๑ เสียก่อนว่าเป็นผู้ที่ไม่ควรสงสัยว่าจะนำมาซึ่งความไม่เรียบร้อย”

มาตรา ๑๒  การเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ ๑ ที่ ๒ ให้ทำดั่งนี้
 ๑. ราษฎรในหมู่บ้านเลือกผู้แทนเพื่อออกเสียงตั้งผู้แทนตำบล
 ๒. ผู้แทนหมู่บ้านเลือกผู้แทนตำบล
 ๓. ผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร
การเลือกตั้งสมาชิกในสมัยที่ ๓ จะมีกฎหมายบัญญัติภายหลังโดยจะดำเนิรวิธีการที่ให้สมาชิกได้เลือกตั้งผู้แทนในสภาโดยตรง

มาตรา ๑๓  ผู้แทนประเภทที่ ๑ จะอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๔ ปีนับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง แต่เมื่อถึงสมัยที่ ๓ แล้วแม้ผู้แทนในสมัยที่ ๒ จะได้อยู่ในตำแหน่งไม่ถึง ๔ ปีก็ดี ต้องออกจากตำแหน่งนับแต่วันที่ผู้แทนในสมัยที่ ๓ ได้เข้ารับตำแหน่ง

ถ้าตำแหน่งผู้แทนว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามเวร ให้สมาชิกเลือกผู้อื่นตั้งขึ้นใหม่ให้เต็มที่ว่างแต่ผู้แทนใหม่มีเวลาอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่ผู้ออกไปนั้นชอบที่จะอยู่ได้

มาตรา ๑๔ ราษฎรไม่ว่าเพศใดเมื่อมีคุณสมบัติดั่งต่อไปนี้  ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้ คือ
 ๑. มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์
 ๒. ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ
 ๓. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เสียสิทธิในการออกเสียง
 ๔. ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย
 คุณสมบัติของผู้แทนหมู่บ้านและผู้แทนตำบลให้เป็นไปเหมือนดั่งมาตรา ๑๑

มาตรา ๑๕ การเลือกตั้งผู้แทนใดๆ ให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้มีการเลือกครั้งที่ ๒ ถ้าครั้งที่ ๒ มีคะแนนเสียงเท่ากันให้ตั้งคนกลางออกเสียงชี้ขาด และให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนกลางไว้

มาตรา ๑๖ ผู้แทนนอกจากถึงเวร จะต้องออกจากตำแหน่ง ให้นับว่าขาดจากตำแหน่ง เมื่อขาดคุณสมบัติดั่งกล่าวไว้ในมาตรา ๑๑ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเมื่อตาย หรือเมื่อสภาได้วินิจฉัยให้ออกในเมื่อสภาเห็นว่าเป็นผู้ทำความเสื่อมเสียให้แก่สภา

มาตรา ๑๗ การฟ้องร้องสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรเป็นคดีอาชญายังโรงศาลจะต้องได้รับอนุญาตจากสภาก่อนศาลจึ่งจะรับฟ้องได้

 

หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 แค่ราว 1 ปี ทางรัฐบาลคณะราษฎรก็จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 โดยใช้วิธีการเลือกตั้งทางอ้อมที่ให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อนแล้วจึงให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกทอดหนึ่งซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้แม้จะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมหากแต่ได้สะท้อนให้เห็นความพยายามออกแบบสถาบันการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยของ คณะราษฎร ที่ต้องการจะให้อำนาจทั้งหลายเป็นของปวงชน ปัจจุบันก็ยังมีงานศึกษาเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยามไม่มากนักและเน้นไปที่จุดตั้งต้น พัฒนาการ และแง่มุมของปฏิกิริยาทางสังคมโดยยังขาดมิติทางความคิด และหลักการ รวมถึงข้อถกเถียงของคณะราษฎร และแนวคิดปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่เสนอแนวทางเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกขึ้น

 


รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 44 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475

 

ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เพียง 7 วัน ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้นในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2475 โดยได้มีการพิจารณาเรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2475 ซึ่งอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดร่างขึ้นและ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์ (ผู้เขียนขอใช้นามปรีดี นับจากนี้เป็นต้นไป) เป็นผู้ทำร่างฯ นี้ขึ้นเป็นครั้งแรก

แนวคิดเบื้องแรกของคณะราษฎรเกี่ยวกับการบัญญัติเรื่องการเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นทางประธานคณะกรรมการราษฎร คือพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ชี้แจงว่า

“เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และมีข้อความหลายข้อที่ตัดเอามาจากพระธรรมนูญชั่วคราวมาลงไว้ในพระราชบัญญัตินี้ เพราะคิดว่าข้อความเหล่านั้นอาจจะต้องแก้ไขเสมอตามเหตุการณ์จะพึงเป็นพึงมีในฉะเพาะกาล เพราะฉะนั้นจึ่งเอามาใส่ไว้เพื่อจะได้แก้ไขได้ง่ายตามเหตุการณ์ ฉะนั้น อนุกรรมการจึ่งได้ร่างขึ้นมาเสียด้วย...ซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้ทำร่างนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก...”

 


พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1 พุทธศักราช 2476

 

ปรีดีอธิบายและชี้แจงถึงแนวคิดและหลักการของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ นี้ รวมทั้งยอมรับการปรับแก้ไขจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 47 มาตรา โดยปรีดี กล่าวถึงความสำคัญของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ว่าได้แบ่งออกเป็นความใหญ่ 2 ภาค คือ ภาค 1 ว่าด้วยสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 คือ ประเภทที่ราษฎรเลือกตั้ง และภาค 2 ว่าด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 คือประเภทที่จะตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ด้วยวิธีปลดหรือตั้งเพิ่มเติมซึ่งเป็นคนละวิธีกับประเภทที่ 1

ใจความสำคัญของภาค 1 ว่าด้วยสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 นั้น ปรีดีชี้แจงเรื่องหลักการเบื้องต้นอันเป็นที่มาของการเลือกตั้งทางอ้อมไว้ว่า

“แต่เดิมในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เรากำหนดให้มีเลือกตั้ง 3 ชั้น หรือ 3 ดีกรี คือให้ราษฎรเลือกผู้แทนหมู่บ้าน ผู้แทนหมู่บ้านเลือกผู้แทนตำบล ผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง

แต่ต่อมาเมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ให้พิจารณาเห็นว่าสมควรจะตัดชั้นแรก หรือดีกรีแรกออกเสีย จะทำให้ประหยัดทั้งเวลาและเป็นการที่จะอบรมให้ราษฎรได้มีการเลือกตั้งน้อยดีกรีขึ้นและต่อไปผลที่สุดเมื่อบ้านเมืองและเหตุการณ์ของเราเรียบร้อยเจริญดีแล้ว ราษฎรก็เลือกผู้แทนของตนโดยตรงทีเดียว...”

ปรีดีเผยให้เห็นแนวคิดของการเลือกตั้งทางอ้อมเป็นครั้งแรกในการประชุมสภาฯ ครั้งนี้อย่างละเอียดอีกว่า

“…ชั้นแรก ราษฎรในตำบลเลือกตั้งผู้แทนตำบลละคน ผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกตั้งก็ไปออกเสียงเลือกผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง แต่ใครจะเป็นผู้แทนตำบลนั้น ก่อนที่จะเป็นต้องไปสมัครไว้ก่อน ส่วนการสมัครจะมีคุณสมบัติอย่างไรนั้น ก็มีว่าต้องมีภูมิลำเนาหรือมีอสังหาริมทรัพย์หรือเป็นบุคคลที่เกิดในที่นั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง และการที่จะสมัครเป็นผู้แทนราษฎรก็เช่นเดียวกัน…และไม่จำเป็นว่าผู้แทนตำบลนั้นจะต้องเลือกคนที่มีบ้านประจำในตำบลนั้น วิธีเช่นนี้ในนานาประเทศเขาก็ทำกัน เช่นเราจะเห็นได้เช่นผู้อยู่ในปารีส อาจจะเป็นผู้สมัครรับเลือกทางหัวเมืองทางปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ ก็ได้...”

และยังได้กำหนดหลักการการเลือกตั้งตามจำนวนประชากรเป็นครั้งแรก โดยให้ผู้แทนตำบลเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้จังหวัดละ 1 คน แต่ถ้าจังหวัดใดมีพลเมืองเกินกว่าหนึ่งแสนคนให้เลือกผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุกๆ หนึ่งแสนและเศษของหนึ่งแสนถ้าถึงครึ่งให้นับเป็นหนึ่งแสน ปรีดีคำนวณว่าจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1 ราว 120 คน ซึ่งในภาคแรกนี้มีข้อถกเถียงประการหลักกันในเรื่องคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเฉพาะในเรื่องอายุ สัญชาติ และอาชีพ ซึ่งในเรื่องของอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งผู้แทนตำบลและผู้แทนราษฎรนั้น กำหนดไว้ที่ 23 ปีบริบูรณ์ โดยถือเกณฑ์ความเป็นผู้ใหญ่เต็มที่หลังปลดประจำการจากการเกณฑ์ทหารแล้วแต่มีข้อถกเถียงเกิดขึ้นว่าควรจะกำหนดไว้ที่อายุ 25 ปี เพราะมีความรู้ความชำนาญดีกว่าแต่ปรีดีอธิบายเหตุผลเรื่องอายุไว้อย่างก้าวหน้าว่า

“ในเรื่องอายุนี้เราก็ได้คิดกันแล้ว ความจริงนั้นผู้ที่ราษฎรจะเลือกตั้งนั้น  เขาก็ย่อมเลือกเฟ้นแล้วว่าเป็นบุคคลดีพอ เป็นผู้ใหญ่ที่วางใจได้

สำหรับอายุนั้นเห็นว่าไม่เป็นการสำคัญเท่าใด บางคนอายุน้อยก็ทำการใหญ่โตได้...”

แนวคิดเรื่องเกณฑ์อายุการเลือกตั้งของปรีดีนี้มี พระยามานวราชเสวี และ พระยานิติศาสตร์ไพศาล สนับสนุนว่า อายุ 23 ปี นั้นมีความรู้ความชำนาญและสมควรมีสิทธิเลือกตั้งและสมัครเป็นผู้แทนราษฎรได้แล้ว

ส่วนในประเด็นเรื่องสิทธิของผู้หญิงในการเลือกตั้งนั้นได้มี มังกร สามเสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกล่าวถามว่า

“ในพระราชบัญญัติเลือกตั้งนี้ สงสัยว่าผู้หญิงจะรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ เพราะไม่ได้ระบุเพศแต่ทางราชการไม่เคยนิยมให้เพศหญิงเกี่ยวข้องแก่การเมืองจึ่งควรทำความเข้าใจให้ชัดเจน”

และได้รับคำตอบที่แยบคายจาก พระยาราชวังสัน ว่า

“ในพระราชบัญญัติมิได้บ่งไว้ว่าเพศใดและผู้หญิงก็คือราษฎรเช่นเดียวกับชาย ฉะนั้นไม่มีข้อห้ามว่าผู้หญิงจะสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้”

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลของคณะราษฎรชุดแรกนี้ตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและความเสมอภาคทางเพศของหญิงและชายโดยแสดงออกทางความคิดและรูปธรรมทางหลักกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติในเวลาต่อมา

ส่วนปัญหาประการหนึ่งของการเลือกตั้งครั้งแรกที่ถูกหยิบยกมาพิจารณาและถกเถียงกันอย่างเข้มข้นและแหลมคม คือ การหาผู้สมัครผู้แทนตำบลไม่ได้เนื่องจากในสยามเวลานั้นยังมีพื้นที่ชนบทห่างไกลอยู่มาก และต้องเสียเงินค่าสมัคร 4 บาท ซึ่ง พระยาจ่าแสนยบดีศรีบริบาล กล่าวถึงประเด็นการเสียเงินค่าสมัครฯ อย่างตรงไปตรงมาว่า “แม้เงินรัชชูปการก็ยังเก็บยาก ปัญหาขัดข้องนี้อาจมีบ้างจะมีหนทางแก้ไขอย่างไร”

ปรีดีตอบกลับว่า

“เรื่องนี้ได้คิดแล้วว่า ผู้สมัครต้องมี กอปรทั้งมีสมาคมคณะราษฎร เมื่อไม่มีใครสมัคร สมาคมคณะราษฎรจะจัดให้มีผู้สมัครจงได้ อนึ่ง ผู้ที่จะรับเลือกต้องพยายามไปหาผู้แทนตำบล การนี้เป็นศิลปะชนิดหนึ่งของการเลือกตั้ง (Election)…ส่วนข้อที่วิตกว่าจะหาผู้ที่มีความรู้เป็นผู้แทนตำบลไม่ได้นั้น...จะกำหนดในพระราชกฤษฎีกาเทียบวิทยฐานะไว้...ในตำบลหนึ่ง ๆ คงมีวัดหนึ่ง ๆ มีพระนักธรรมที่เทียบวิทยฐานะได้”

และ พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้สรุปปัญหาเรื่องไม่มีผู้แทนตำบลไว้ว่า ถ้าไม่มีผู้แทนตำบลให้ปล่อยว่างไว้เช่นในสหรัฐอเมริกา และแนวคิดที่น่าสนใจของการเลือกตั้งครั้งแรกที่มีลักษณะเฉพาะคือให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้สองครั้ง ในกรณีที่ครั้งแรกนั้นผู้สมัครมีคะแนนไม่ถึงครึ่งหนึ่งโดยการเลือกตั้งครั้งที่สองนี้จะใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ และให้ผู้แทนตำบลสมัครเป็นผู้แทนราษฎรได้ในคราวเดียวกัน

เมื่ออธิบายและชี้แจงเรื่องพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฯ มาถึงช่วงท้ายในครึ่งวันเช้า ปรีดีเผยให้เห็นแนวคิดและหลักการของการจัดการเลือกตั้งทางอ้อมที่ให้เลือกผู้แทนราษฎร 2 หน ได้ว่าเป็นวิธีและศิลปะการเลือกตั้งที่ใช้ในประเทศฝรั่งเศสและบางประเทศ

“ขอชี้แจงว่า วิธีเลือกผู้แทนนี้เราใช้วิธีเลือก 2 หน เป็นวิธีที่ใช้ในฝรั่งเศสและในคอนติเนนต์บางประเทศ ต่างกับวิธีเลือกหนเดียวที่ใช้สำหรับเลือกผู้แทนตำบล วิธีเลือก 2 หนนี้เห็นว่าเหมาะอย่างยิ่งสำหรับที่จะนำมาใช้แก่วิธีการเลือกผู้แทนราษฎร...สมมติว่าในจังหวัดหนึ่งมีผู้แทนตำบล 100 คน มีผู้สมัคร 50 คน เสียงย่อมกระจาย บางทีผู้ที่ได้คะแนนเสียงเพียง 3 เสียงอาจคะแนนสูงที่สุดและเป็นผู้แทนราษฎร...เช่นนี้ไม่งดงามเลย ตามวิธีเลือก 2 หนนั้น ถ้าเลือกครั้งแรกมีผู้ได้คะแนนเกินกว่าครึ่งก็ได้เป็นผู้แทนทันทีไม่ต้องเลือกครั้งที่ 2 อีก...”

หลักและระเบียบการเลือกตั้งครั้งแรกบางประการยังส่งต่อมาจนถึงการเลือกตั้งในสมัยปัจจุบันคือ การจัดให้มีการเลือกตั้งในวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อความสะดวกของราษฎร และการห้ามมิให้โฆษณานโยบายของคณะการเมืองในวันเลือกตั้ง แต่สามารถแสดงนโยบายของผู้สมัครผู้แทนราษฎรได้ก่อนการเลือกตั้ง

 


รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475

 

ขณะที่บทบัญญัติเรื่องสมาชิกประเภทที่ 2 หรือสภาที่สองในมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และในมาตรา 47 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ นั้น ปรีดีกล่าวอธิบายว่า เป็นคนละอย่างกับสมาชิกประเภทที่ 1 ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยพระมหากษัตริย์ทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 65 และมีการวิเคราะห์ว่าสมาชิกสภาประเภทที่ 2 นี้ คือวุฒิสภาแอบแฝง ซึ่งมีความแตกต่างทั้งหลักการและที่มากับพฤฒสภาหรือสภาที่สองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ที่มีหลักการให้ราษฎรมีสิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ได้ในเวลาต่อไป

 


พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475

 

เมื่อการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2475 สิ้นสุดลงโดยที่ประชุมฯ ทั้งหมดลงมติรับรองเห็นชอบว่าร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฯ นี้ใช้ได้ และประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2475

 

หลักการเลือกตั้งเรื่องสัญชาติและอายุในคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

 


รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง)
วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

 

คำแถลงการณ์ข้อ ๔ ในตอนต้นเป็นการเล่นถ้อยคำกันมากกว่า (ประดุจการร่างกฎหมายที่ต้องเสียเวลาชักช้าเพราะถ้อยคําเหล่านี้ เช่น ที่ ซึ่ง อัน ผู้)

ในตอน ๒ ดูเป็นห่วงผู้แปลงชาติเป็นนักหนา การอยู่ในพระราชอาณาจักร์หมายความว่าอยู่อย่างมี Residence ควรเป็นเวลาติดต่อกัน มิฉะนั้นบุคคลที่เป็นผู้เดินทางไปๆ มาๆ เช่นพวกเดินทางในการค้า “Voyageur de commerce” ที่มีมาอยู่ในสยาม ๓ เดือนแล้ว ออกนอกสยาม ๓ เดือน ดั่งนี้ก็จะนับเวลาติดต่อกันได้จึ่งเห็นว่าไม่ต้องระวังคนแปลงชาติให้มากเกินควรไป ควรระวังพวกท่องเที่ยวไปๆ มาๆ ให้มาก

ในตอน ๓ ที่อธิบายเรื่องขยายอายุผู้ออกเสียงจาก ๒๐ เป็น ๒๕ นั้นรัฐบาลไม่ได้ชี้แจงเหตุเลยว่าเหตุใดจึ่งขยายอายุสูงกว่าการบรรลุนีติภาวะตามธรรมดาตัวอย่างที่อ้างก็เลือกเอาแต่ประเทศที่ Favourable กับตน และชอบเอาอย่างเด็นมาร์ค ตัวอย่างที่อ้างมีเด็นมาร์ค ไอซแลนด์ (เมืองขึ้นเด็นมาร์ค) ฮังการี ลีทุเอเนีย นอรเวย์ เนเดรลันด์ แต่ประเทศส่วนมากนอกจากนี้ที่เขาถืออายุบรรลุนีติภาวะ ทําไมไม่อ้างมาบ้าง ดูเป็นการเลือกเอาตามชอบใจ”

นายปรีดีให้ความสนใจต่อเรื่องการขยายอายุในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฯ ฉบับใหม่ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาค่อนข้างมาก

“ข้าพเจ้าเห็นว่าเมื่อบุคคลบรรลุนีติภาวะแล้วก็ควรมีเสียงในการเมืองเพื่อป้องกันประโยชน์ของเขา การที่ขยายอายุขึ้นไปเช่นนี้ เพราะรัฐบาลเดิมเห็นว่า คนรุ่นหนุ่มไม่เลื่อมใสในพวกของตน จึ่งจำต้องหาผู้มีอายุสูง

การกําหนดอายุนี้เป็นการกําหนดเอาตามชอบใจ มีหลักเกณฑ์อันใดที่คนมีอายุ ๒๐ ปีจะไม่สามารถออกเสียงในการเลือกตั้ง และจำต้องเอาคนมีอายุ ๒๕ ปีขึ้นไป การเลือกตั้งผู้แทนตําบลไม่ใช่เป็นการลำบากยากนักหนาจนถึงกับจะต้องเอาคนอายุมากๆ มาเป็นผู้ออกเสียง คนอายุ ๒๐ ปีก็สามารถออกเสียงเลือกตั้งได้ และสามารถเลือกเฟ้นได้ว่าใครสมควรเป็นผู้แทนตําบลของเขาการเลือกในเมืองไทยมี ๒ ชั้น ฉะนั้น ภาระในการเมือง ในการเป็นปากเสียงของราษฎรตกอยู่ที่ผู้แทนตําบลที่ติดต่อโดยตรงกับผู้แทนราษฎร

ในประเทศที่เขากําหนดอายุสูงกว่าอายุบรรลุนีติภาวะธรรมดานั้น เขามีการเลือกตั้งชั้นเดียว คือราษฎรเลือกผู้แทนราษฎรโดยตรงซึ่งต่างกับของเราจะเอามาเทียบกันไม่ได้ รัฐบาลเดิมมองดูกฎหมายด้านเดียวที่จะเป็นประโยชน์แก่ตน หาใช่ทุกด้านอันจะเป็นประโยชน์แก่พลเมืองไม่”

และสนับสนุนคนอายุน้อยให้มีสิทธิด้วยเหตุผลสำคัญว่า “ฉะนั้นจึ่งเห็นควรว่าต้องถือตามอายุบรรลุนีติภาวะ คือเอาอายุ ๒๐ ปี เป็นเกณฑ์เปิดโอกาสให้คนรุ่นหนุ่มที่มีความหวังดีต่อชาติไม่แพ้คนที่มีอายุกว่า ๒๕ ปี ออกเสียงเลือกผู้แทนตําบลของเขาได้ และอธิบายต่อไว้ว่า

 


รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง)
วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

 

คําแถลงการณ์ข้อ ๕ ในตอนต้นที่ขยายอายุผู้แทนจาก ๒๓ ปีเป็น ๓๐ ปีนั้น ข้าพเจ้าเห็นควรว่าท่านสมาชิกจะต้องคัดค้านอย่างเต็มที่เพราะเหตุที่รัฐบาลอ้างว่า “จะได้ผู้ที่มีความหนักแน่นและคุ้นเคยกับการงานมากขึ้นเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎร”

ข้อนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่จริงเสมอไปเลย ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากเช่นพระยามโนฯ มีความหนักแน่นเพียงใด มีการจองเวรเพียงใด คนที่มีอายุ ๒๓ ปี หนักแน่นกว่าผู้ใหญ่ก็มีถมไป

ใครเป็นผู้ชี้ขาดว่าคนอายุต่ำกว่า ๓๐ ปีมีความหนักแน่นน้อยกว่าคนที่มีอายุกว่า ๓๐ ปี

ทั้งนี้เป็นการพูดเอาข้างเดียว ผู้ใหญ่ก็ซัดเด็กว่าไม่หนักแน่น เด็กก็ซัดผู้ใหญ่ว่าไม่หนักแน่น ถ้าปล่อยต่างคนต่างซัดกันเช่นนี้แล้วเป็นการไม่ยุตติธรรมอย่างยิ่ง และเห็นว่าจะเอาอายุมาเป็นเครื่องวัดความหนักแน่นไม่ได้ ข้าพเจ้าและท่านสมาชิกคงเห็นมามากว่า คนอายุกว่า ๓๐ ปี ไม่หนักแน่นมีเพียงใด คือ คนที่หูเบา เชื่อง่าย โกรธง่ายเหล่านี้บางที เป็นนิสสัยที่ติดตัว จะอายุเท่าใดๆ ก็ไม่หาย ฉะนั้นเห็นว่าการจะหนักแน่น หรือไม่นี้เป็นข้อเท็จจริงมากกว่าที่จะกําหนดโดยอายุตามอําเภอใจ ควรปล่อยให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งดีกว่า กล่าวคือ ถ้าใครไม่หนักแน่นก็คงไม่มีใครออกเสียงเลือกตั้ง

ส่วนการที่ว่าคนอายุกว่า ๓๐ ปี คุ้นเคยกับการทำงานมากนั้น ข้าพเจ้าก็ยังสงสัยถ้าคนอายุ ๓๐ ปี พึ่งเริ่มทำงานเมื่ออายุ ๒๙ ปี และคนอายุ ๒๓ ปี เริ่มทํางานแต่ ๑๘ ปี ดั่งนี้ใครจะคุ้นเคยการงานมากกว่ากัน การคุ้นเคยการงานในที่นี้อาจหมายถึงงาน Routine ประจําวันซึ่งแม้แต่คนที่พึ่งเริ่มทํางานก็ทําได้ โดยถือหลักว่าเดิมทำมาอย่างไรก็ตามไปอย่างนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลเดิมกําหนดอายุเช่นนี้ตามอําเภอใจ และเปลี่ยนหลักการเลือกตั้งเสียใหม่หมดประสงค์วางเข็มไปในทางพวก Conservaturs หมด…”

การอธิบายของนายปรีดีเรื่องความสามารถในทางการเมืองและการลดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแสดงถึงนัยการเมืองตามหลักความเสมอภาคของราษฎรหรือในภาษาการเมืองร่วมสมัย ณ ปัจจุบันคือ “คนเท่ากัน” ก็น่าจะพิจารณาไปในทางนั้นได้

“หลักเดิมของพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น เราถือตาม “ความสามารถในการเมือง” คือ เมื่อผู้ใดสอบไล่หรือแสดงความสามารถในการเมืองได้ก็ควรเป็นผู้แทนราษฎรได้ เขาเหล่านั้นจะเป็น พวก Conservaturs หรือไม่ ไม่เป็นของสําคัญ เราต้องฟังเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ส่วนการงานประจําวันนั้นมีเจ้าหน้าที่ประจําปฏิบัติอยู่แล้ว ตามหลักเดิมนั้นประสงค์ให้ผู้แทนราษฎรมีหูตาสว่าง ไม่ถูกหลอกเล่นง่ายๆ เหมือนพระยามโนฯ เที่ยวหลอกลวงว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์ ผู้ที่รู้ในการเมืองจริงเช่นรู้ว่าคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงคืออะไร? ก็ทราบได้

อนึ่งข้าพเจ้าขออ้างเหตุผลอันเด็ดขาดทีเดียวว่า การปกครองแบบรัฐธรรมนูญนี้เป็นของใหม่สําหรับคนไทย ไม่ว่าคนอายุกว่า ๓๐ ปีหรือต่ำกว่าย่อมอยู่ในระดับอันเดียวกัน คนอายุกว่า ๓๐ ปี ผู้ใดจะอ้างว่าตนเคยคุ้นเคยกับการงานเช่นนี้มากกว่าคนอายุต่ำกว่า ๓๐ ปีไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญเราพึ่งได้มีมา ๑ ปีกว่าๆ นี้เอง ขอให้สังเกตการประชุมของเราในสภาฯ ซึ่งมีท่านอายุกว่า ๓๐ ปีหลายคน แต่ท่านก็ยอมรับว่าเป็นของใหม่ด้วยกันทั้งนั้น

เหตุฉะนั้นการกําหนดอายุเช่นนี้เป็นการไม่ยุตติธรรมอย่างยิ่ง”....ควรถืออายุตามเดิม”

ด้วยเหตุจากการยึดตามหลักเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 คำชี้แจงเรื่องหลักการเลือกตั้งของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ส่งผ่านมายังสภาผู้แทนราษฎรข้างต้น และการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนเรื่องความไม่เที่ยงธรรมต่อหลักประชาธิปไตยและไม่เป็นคุณูปการต่อราษฎรจึงส่งผลให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการเลือกตั้งและประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 ฉะบับที่ 2 เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2476 โดยข้อเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ ให้ผู้มีสิทธิอออกเสียงเพื่อเลือกตั้งผู้แทนตำบลมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ และผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนตำบลมีอายุ 23 ปีบริบูรณ์ดังพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ฉบับแรก

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยามผ่านความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ได้แสดงให้เห็นความสำคัญโดยเฉพาะในเชิงหลักการประชาธิปไตยของคณะราษฎรและแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ที่ริเริ่มก่อรูปสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยกันอย่างรอบคอบมีทั้งประนีประนอมและหนักแน่น และยังชี้ให้เห็นว่าแนวคิดการเลือกตั้งทางอ้อมและการจัดให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรได้สองครั้งหากคะแนนเสียงไม่เกินครึ่งหนึ่งยังมาจากหลักประชาธิปไตยสากลของต่างประเทศที่คณะราษฎรรับทอดหลักการมายังสยามเพื่อพัฒนารากฐานประชาธิปไตยให้หยั่งรากมั่นคงต่อไปในอนาคต

 

หมายเหตุ : คงอักขระและวิธีการสะกดตามต้นฉบับ

ภาพประกอบ : ราชกิจจานุเบกษา สถาบันปรีดี พนมยงค์ พิพิธภัณฑ์รัฐสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

 

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1 พุทธศักราช 2476, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 มิถุนายน 2476, เล่ม 50, หน้า 355-357.
  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 มิถุนายน 2476, เล่ม 50, หน้า 355-357.
  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ธันวาคม 2475, เล่ม 49, หน้า 554-572.
  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดจังหวัดเพื่อการเลือกตั้งตามความในพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 มิถุนายน 2476, เล่ม 50, หน้า 358-370.
  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาดำเนินการเลือกตั้งตามความในพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 ฉะบับที่ 2, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 15 สิงหาคม 2476, เล่ม 50, หน้า 470-472.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 44 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/375837
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/375838
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/375934
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/375935
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/375875
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.3.8/31 แถลงการณ์การเลือกตั้งผู้แทนตำบล [23 ส.ค. 2476]
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดจันทบุรี. จบ1.1.1.7/2 ให้ส่งสถิติผู้ออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบลและผู้แทนราษฎร [4 มี.ค. 2477-13 ก.ค. 2478]

หนังสือภาษาไทย :

  • กองการโฆษณา, แถลงการณ์เรื่องการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2476 (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2476)
  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (2526). สัมภาษณ์รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. วันที่ 10 เมษายน 2525. โครงการ “ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย”. กรุงเทพฯ.
  • ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2544)
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543)
  • ปราโมทย์ พึ่งสุนทร. (ม.ป.ป.). ข้อเสนอของ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ต่อ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี เรื่อง วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย. วันที่ 8 ธันวาคม 2516.
  • ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2552)

วารสาร :

  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (มิถุนายน 2531). “การเมืองไทยในระบบสภาผู้แทนราษฎร: การเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476: ตอนที่หนึ่ง.” ศิลปวัฒนธรรม, 9 (8), 62-85.
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (กรกฎาคม 2531). “การเมืองไทยในระบบสภาผู้แทนราษฎร: การเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476: ตอนที่สอง.” ศิลปวัฒนธรรม, 9 (9), 68-76.

วิทยานิพนธ์ :

  • วิเชียร เพ่งพิศ, “แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์,” (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • กษิดิศ อนันทนาธร. (14 พฤษภาคม 2566). ปรีดี พนมยงค์ กับการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร. https://pridi.or.th/th/content/2023/05/1537
  • ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2564). การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม : บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม.  https://kpi-lib.com/library/en/books/kpibook-16442/
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. (8 มีนาคม 2561). การเลือกตั้งครั้งแรก! กับสตรีผู้ปรารถนาจะมีส่วนร่วม ทางการเมือง. https://thematter.co/thinkers/women-first-election/

 


[1] ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สัมภาษณ์ รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ วันที่ 10 เมษายน 2525 (กรุงเทพฯ: โครงการ “ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย”, 2526), น. 21. และกษิดิศ อนันทนาธร. (14 พฤษภาคม 2566). ปรีดี พนมยงค์ กับการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร. https://pridi.or.th/th/content/2023/05/1537

[2] ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, น. 34.

[3] เพิ่งอ้าง, น. 37-38.